เชื่อมร้อยทรัพยากรท้องถิ่นสู่แนวทางการอนุรักษ์และนำมาใช้ประโยชน์

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.สมพร เกษแก้ว คณะวิทยาศาสตร์, รศ.ไกรเลิศ ทวีกุล คณะเกษตรศาสตร์ และนายหิรัญ แสวงแก้ว สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ลงพื้นที่คืนข้อมูลการสำรวจทรัพยากรป่าสาธารณะประโยชน์บ้านโนนแดง แลกเปลี่ยนศักยภาพและความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากร เพื่อร่วมกันหาแนวทางพัฒนาและยกระดับองค์ความรู้ชาวบ้านเพิ่มมูลค่าจากความหลากหลายของทรัพยากรภายใต้กรอบการอนุรักษ์ จัดขึ้น ณ ศาลาประชาคมบ้านโนนแดง ต.บัวเงิน อ.น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลบัวเงิน ผู้นำชุมชน เกษตรกร ภูมิปัญญาชาวบ้าน กลุ่มอาชีพ และกรรมการป่าชุมชนบ้านโนนแดง 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านโนนแดง หมู่บ้านโคกเล้า และหมู่บ้านหนองแวง 

     จากการแลกเปลี่ยนศักยภาพและความต้องการของชุมชนต่อการเพิ่มมูลค่าจากความหลากหลายของทรัพยากรภายใต้กรอบการอนุรักษ์พื้นที่ตำบลบัวเงิน พบว่า ป่าสาธารณะประโยชน์บ้านโนนแดงเป็นป่าฟื้นฟูระยะที่สอง ซึ่งมีความหลากหลายทั้งไม้ต้น (ประดู่ป่า แดง เสี้ยว แต้ เป็นต้น), สมุนไพร (แผ่นดินเย็น พังคี ตูบหมูบ กระเจียวแดง เป็นต้น) และเห็ด (เห็ดตะไค เห็ดหน้าแดง เห็ดถ่าน เห็ดผึ้ง เห็นน้ำหมาก เห็ดก่อ เป็นต้น) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จึงมีความคิดเห็นตรงกันในด้านการอนุรักษ์โดยเลือกความหลากหลายของเห็ด และเพิ่มปริมาณเห็ดในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยี สำหรับด้านการใช้ประโยชน์ เนื่องจากพื้นที่ตำบลบัวเงิน อาชีพหลักของเกษตรกรนอกจากปลูกข้าวแล้ว ส่วนใหญ่ปลูกอ้อยส่งโรงงาน และมันสำปะหลัง ซึ่งยังพบการเผาใบอ้อย และเผาเหง้ามันสำปะหลังที่เป็นเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบ จึงมีความต้องการที่จะเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือทิ้งจากความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่สู่การเปลี่ยนเป็นวัสดุบำรุงดินให้กับเกษตรผู้ปลูกผักซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 ครัวเรือนได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อไป

 

ข่าว: สาวิตรี ศรีมงคล ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ